top of page
Cover landing.png

ตารางสู่อิสรภาพทางการเงิน

ขอแนะนำตารางที่จะช่วยทำให้คุณมีอิสรภาพทางการเงิน ผมได้ออกแบบตารางนี้ออกมาจากประสบการณ์ที่ตัวผมเองได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการการเงิน และอยากจะแบ่งปันให้ทุกคนได้มีเครื่องมือไปใช้ เพื่อช่วยให้เห็นภาพรวมของสถานะทางการเงิน การตั้งเป้าหมายในชีวิต การจัดการค่าใช้จ่าย และการนำสิ่งเหล่านั้นมาเรียงความสำคัญให้เหมาะสมกับความสามารถในการหาเงินของเรา และจัดการมันให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีอิสรภาพทางการเงินได้อย่างที่ตั้งใจ

กำหนดเป้าหมาย

การมีเป้าหมายนั้นสำคัญสำหรับการใช้ชีวิต และเป้าหมายที่ดีควรทำให้จิตใจเราพองโตและพร้อมที่จะออกไปคว้ามันมาให้ได้ และระหว่างทางก็อย่าลืมเป้าหมายเล็กๆน้อยๆที่จะเป็นรางวัลให้เราในวันนี้ เพื่อเป็นการเดิมไฟให้เราและเป็นแรงเหวี่ยงให้ไปถึงเป้าหมายใหญ่ที่เราคาดหวังไว้

เรียงลำดับความสำคัญ

เราจะใช้ทรัพยากรณ์ที่จำกัดของเรายังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากสิ่งที่เรามีและในแต่ละช่วงเวลาก็อาจจะมีตัวแปรที่ทำให้เราต้องคอยปรับสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่เสมอ การมองภาพรวมจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อบอกว่าเป้าหมายและเครื่องมืออันไหนที่เป็นของจริงสำหรับเราในช่วงเวลานั้น

ทำงานที่เรารัก

อัตราการเติบโตของเงินนั้นต่างออกไปในแต่ละเครื่องมือและความเสี่ยง เมื่อเรามีโอกาสหาเงินและมีโอกาสให้เงินทำงาน การพัฒนาความสามารถของตนเองผ่านการทำงานที่เรารักจนทำได้ดีจะทำให้เราได้ใช้ชีวิตของเราและอย่าลืมคอยปรับแผนการเงินให้ตรงกับปัจจุบันอยู่เสมอ 

ใช้งานตารางนี้ยังไง?

แบบจำลองสถานภาพทางการเงิน (Financial Freedom Canvas) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องความมั่งคั่งของคุณได้โดยชัดเจน แบ่งเป็น 6 ส่วนสำคัญ เครื่องมือนี้ช่วยให้คุณสามารถโฟกัสในแต่ละหมวดหมู่สำหรับ 1 ปีต่อไปในอนาคตและสามารถปรับตัวแปรต่างๆตามความเป็นจริงได้ตลอดทั้งปี ด้วยการควบคุมการใช้จ่าย การลงทุน และการป้องกันความเสี่ยงของทรัพย์สิน คุณจะสามารถบรรลุเสรีภาพทางการเงินเมื่อคุณมีตัวเลขเงินปันผลที่มากกว่ายอดการใช้จ่ายรายปีทั้งหมดของคุณ เริ่มใช้ Financial Freedom Canvas ในวันนี้แล้วคุณจะมีการเงินที่ดีในอนาคต

เริ่มขั้นตอนแรกกันเลย

บันทึกรายจ่าย

ขั้นตอนที่ 1

(Budgets & Non-Discretionary)

รายจ่ายของเรานั้นจะสามารถบ่งบอกนินัยได้ค่อนข้างชัดเจนว่าคนนั้นที่ให้ความสำคัญกับการใช้เงินแบบนั้นจะเป็นคนยังไง ซึ่งรายจ่ายที่ออกแบบมาจะแบ่งได้ 2 ประเภท คือรายจ่ายที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งเราจะเอามาหักออกตั้งแต่แรก และรายจ่ายสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันที่เราสามารถบริหารได้ในรายเดือน การตั้งรายการและวงเงินของรายจ่ายไว้จึงเป็นตัวช่วยที่ดีที่จะทำให้เราสามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถทำให้เราสามารถเป็นคนที่เราอยากเป็นและได้ทำในสิ่งที่อยากทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางการเงิน 

มีรายได้เท่าไหร่บ้าง

ขั้นตอนที่ 2
(Income & Return)

รายได้ควรคำนวนจากรายรับที่เราจะได้รับในตลอดทั้งปี อาจจะคำนวนได้ไม่แน่นอนนักแต่ก็ไม่เป็นไร สามารถเอาตัวเลขที่ใกล้เคียงมาใช้งานก่อนเพื่อเริ่มการคำนวนได้ โดยปกติพอคนเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนและเดินบนทางที่วางแผน เราจะมีโอกาสหารายได้เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่เริ่มเราเพียงแค่คำนวณรายได้ไปไว้ล่วงหน้าหนึ่งปีและสามารถมาอัพเดทรายได้ในตารางได้อยู่เสมอไม่จำเป็นว่าจะต้องทำปีละครั้ง ซึ่งรายได้นี้ก็จะรวมรายได้หรือเงินปันผลจากการลงทุนต่างๆ รวมถึงเงินที่ได้คืนจากการขอลดหย่อยภาษีอีกด้วย

ใช้เงินเก็บให้หมด

ขั้นตอนที่ 3
(Goals & Risk & Investment)

ขั้นตอนนี้อาจจะเป็นขั้นตอนที่สนุกที่สุดขั้นตอนนึงเลยก็ว่าได้เพราะเป็นเรื่องของการใช้เงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายหรือเงินที่เรียกว่าเงินเก็บให้หมดนั้นเอง แต่การใช้เงินที่ว่านี้ก็ไม่ได้ใช้ไปอย่างสุรุ่ยสุร่ายกับของไม่จำเป็น แต่จะเป็นการใชไปเติมเต็มเป้าหมายในชีวิตของเราที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ และเอาไปซื้อหน่วยลงทุนหรือทำธุรกิจเพื่อที่จะสามารถให้เงินทำงานให้เราได้ โดยที่เราจะมีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่การมีเงินปันผลและรายรับจากการลงทุนมากกว่าเงินที่เราใช้ ซึ่งจะทำให้เรามีอิสรภาพทางการเงินนั่นเอง

TH Financial Freedom Canvas How to.png
Hand out example 2.png

สถานะในเกมส์การเงิน

ความเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างรอยยิ้ม

01

เป็นหนี้กับการใช้จ่ายเพื่อยังชีพ

ถ้าเราต้องติดหนี้เพียงเพราะการใช้ชีวิตเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต การผ่อนสินค้าเอามาใช้ในบ้าน หรืออาจจะรวมถึงรถด้วย การมาวางแผนเรื่องการเงินตอนนี้อาจจะเป็นเรื่องดีมากๆ เพราะเราได้เริ่มจากสถานะแรกเลยแล้วเราจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งสถานะนี้อาจจะต้องเน้นการคุมค่าใช้จ่ายและลดไลฟ์สไตล์ของตนเองและครอบครัวลงให้ตัวเลขไม่ติดลบ และโฟกัสกับการหารายได้เพิ่มเพื่อให้เหลือเงินออมให้ได้

03

ใช้เงินเก็บไปลงทุน

พอเรามีเงินเหลือเก็บแล้วไม่ว่าจะจากการลดไลฟ์สไตล์หรือว่าการมีรายรับที่มากขึ้น สถานะนี้ก็จะเริ่มมีความสนุกกับการได้ชอปปิ้งไม่ว่าจะเป็นหน่วยลงทุนต่างๆ หรือการเริ่มธุรกิจ ซึ่งก็ควรที่จะลงทุนในจุดที่ตัวเองมีความรู้และได้เปรียบคู่แข่งในตลาด ที่อยู่ในช่วงความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเงินลงทุน จุดนี้อย่าลืมลดความเสี่ยงโดยใช้ตัวช่วยทางการเงินเพื่อให้ความเหนื่อยของเราที่ลงแรงไปนั้นไม่สูญเปล่าและไม่ทำให้กระทบไปยังครอบครัวที่เรารักและพยายามเพื่อเค้ามาตลอดอีกด้วย

02

เงินใช้เดือนชนเดือน

ถ้าคุณหามาได้เท่าไหร่แล้วสิ้นเดือนมาก็หมดแล้วต้องมาปวดหัวกับค่าใช้จ่ายรายปี ทำให้เหนื่อยกับการโยกเงินไปมา อยากให้รู้ไว้ว่าคุณกำลังเดินทางเข้าใกล้การมีเงินออมมากขึ้นแล้ว เพราะการปรับตัวเพียงน้อยนิดแบบไม่อึดอัดมาก ก็จะทำให้คุณสามารถมีเงินออมได้ไม่ยาก การตั้งวงเงินการใช้ก็อาจจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการจัดการเงิน และทัศนะคติที่ดีเกี่ยวกับเงินจะดึงดูดโอกาสต่างเข้ามาในอนาคต

04

ให้เงินทำงาน

จุดนี้เป็นจุดที่ชีวิตค่อนข้างผ่อนคลายและมีเงินช่วยทำงานทำให้มีรายได้เข้ามาหลายช่องทาง ทำให้มีโอกาสมากมายในการเลือกทำงานที่เรารัก ทำเพื่อต่อยอดไปเป็นงานที่มีความหมายให้กับการมีชีวิตและสามารถเป็นแรงผลักดันให้มีพลังอยากตื่นขึ้นมาทำงานที่มีคุณค่านั้นทุกๆวัน  รวมถึงคุณสามารถเร่งการลงทุนเพื่อให้คุณมีอิสรภาพทางการเงินได้อย่างไม่ยากอีกด้วย และจุดนี้การทนทวนแผนเงินการบ่อยครั้งจะเป็นเรื่องดีและการมีวงเงินสำหรับการให้ผู้อื่นก็อาจจะเป็นเรื่องที่สามารถเข้ามาเติมเต็มให้กับชีวิตคุณมากขึ้นด้วย

รายการในตาราง

สำคัญสุดคือเป้าหมาย

ถ้าไม่มีเป้าหมายเราก็คงไม่มีทิศทางในการเดินทาง การเงินก็เช่นกันบางทีเราก็ไม่รู้ทำไปทำไม เพราะการมีเป้าหมายในอนาคตที่ใหญ่เกินไปก็อาจจะทำให้เราลืมปัจจุบันไปได้แต่เวลาปัจจุบันของเรากลับสำคัญที่สุด การกำหนดเป้าหมายที่เป็นรางวัลจึงไม่ได้ตายตัว อาจจะเป็นเป้าในการไปเที่ยวการซื้อรถดีดีๆการกินหรูหรือการเปิดประสบการณ์ต่างๆก็ได้ แต่เราก็ไม่ควรลืมว่าในอนาคตเราจะต้องมีสิ่งที่ไม่มีไม่ได้ด้วยเช่นกัน เช่นเงินที่จะใช้ตอนที่เราไม่สามารถทำงานได้หรือค่ารักษาพยาบาลหรือเงินที่อยากจะเก็บไว้ให้ลูกเรียนมหาลัยในอนาคต ซึ่งการไปถึงเป้าเหล่านี้ได้อาจจะขึ้นอยู่กับการเงินและความสามารถในการบริหารของแต่ละคน แต่ข้อดีของการกำหนดเป้าได้ชัดเจนตอนอายุยังน้อยนั้นก็คือเราสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการหาเงินให้ไปถึงเป้าได้โดยที่ฐานะทางบ้านจะเป็นเรื่องรองทันที ซึ่งการตั้งเป้าหมายก็สามารถตั้งได้ในหลายช่องตามความสำคัญที่เรากำหนดให้ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต

(เป้าหมาย/ การป้องกันความเสี่ยง/รายจ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้)

เงินสดสำรองฉุกเฉิน 

เงินก้อนนี้คือเงินสดที่เก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินตามชื่อที่บอกแต่ก็ต้องดูความพอดีของแต่ละคน ไม่มากเกินความจำเป็นเพราะเงินสดที่เก็บไว้เยอะเกินมันจะไม่ได้ทำงานสร้างเงินให้กับเรา แต่เราก็ต้องมีมากพอในการใช้งานให้เหมาะสม ลองนึกถึงค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่เราต้องใช้งานทันทีภายใน 1 วันดู เช่นค่ารักษาพยาบาลต่างๆ หรือ อะไรที่ต้องจ่ายทันที ถ้าคิดไม่ออกก็ลองคำนวนตามเงินที่ใช้ดูก็ได้ว่าเดือนๆนึงเราใช้เท่าไหร่แล้วลองเก็บเผื่อไปสำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือนดูก่อน แต่เงินที่ไม่ได้เร่งใช้ใน 1 วันหรือใช้ใน 1 สัปดาห์ เช่นเงินที่เก็บไว้สำหรับวันที่ไม่มีงานเราจะอยู่ได้อีกกี่เดือน เงินนี้เราสามารถนำไปเก็บได้ในรูปแบบอื่นที่สร้างผลตอบแทนให้เราแต่ต้องมีความเสี่ยงต่ำและสามารถดึงออกมาเป็นเงินสดได้ง่ายภายในไม่กี่วัน *ควรแยกเก็บกับเงินที่ใช้รายเดือนกับเงินสดสำรองฉุกเฉิน **ลองมองหาที่ๆให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูง อาจจะต้องแบ่งเก็บไว้หลายๆบัญชีเพื่อผลประโยชน์เรื่องดอกเบี้ยเงินฝาก
(การป้องกันความเสี่ยง)

ประกันชีวิต/สุขภาพ

ความเสี่ยงทางสุขภาพส่งผลทางตรงกับความเสี่ยงทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การวางแผนการเงินเราทำได้ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถเราจะทำได้ แต่เราก็ไม่สามารถวางแผนการเงินเรานอกกรอบแห่งความเป็นจริงได้เช่นกัน ซึ่งความเป็นจริงที่ว่าก็คือการมีชีวิตอยู่และมีสุขภาพที่ดี การลดความเสี่ยงต่างๆถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่การรับความเสี่ยงด้านการเงินในเรื่องสุขภาพนั้นเราต้องเตรียมเงินไว้จำนวนหนึ่งให้เหมาะกับค่ารักษาที่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงเมื่อเกิดเหตุร้ายการมีชีวิตอยู่ต่อก็สำคัญที่สุดมากกว่าทุกอย่าง และมันจะร้ายกว่านั้นถ้าต้องใช้ค่ารักษาที่มากเกินที่เราเตรียมไว้และคนรอบตัวผู้ป่วยก็พร้อมที่จะทุ่มทุกอย่างเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตอยู่ต่อ การโอนความรับผิดชอบทางการเงินไปให้บริษัทประกันจึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมค่ารักษาไว้มากพอหรือเหมาะกับคนที่อยากจำกัดเงินค่ารักษาพยาบาลไว้ให้มากสุดแค่ค่าเบี้ยประกัน *เลือกเบี้ยให้เหมาะสมกับฐานะตนเองไม่ควรเลือกประกันที่เกินตัว และปิดความเสี่ยงที่มีให้มากที่สุด **ควรคำนวนเบี้ยชีวิตให้เหมาะสมเพราะถ้าเสาหลักของครอบครัวหายไปครอบครัวนั้นจะต้องใช้เงินแค่ไหนในการปรับตัว หรือมีความเสี่ยงทางการเงินอะไรบ้างหากคนที่หาเงินให้ครอบครัวคนนั้นหายไป

(การป้องกันความเสี่ยง)

ประกันเงินออม/เกษียณ

การเก็บเงินเป็นเรื่องสำคัญและการเก็บเงินก็ควรนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถเราจะทำได้ แต่หลายคนก็ยังไม่มีเงินเก็บซักทีถึงแม้เงินเดือนจะเพิ่มขึ้นเวลาผ่านไปหลายปีก็ยังไม่มีเงินเก็บเพราะมีแต่เรื่องที่คิดว่าสำคัญเข้ามาในชีวิต การเก็บเงินผ่านประกันจึงเป็นข้อดีที่ทำให้เราสามารถเก็บได้ชัวร์เรียกง่ายๆว่าบังคับเก็บนั่นเองและมีความเสี่ยงที่น้อย มีผลตอบแทนสามารถคำนวนได้ว่าจะมีเท่าไหร่ในอนาคต ถ้าเทียบกับการลงทุนก็อาจจะเป็นการลงทุนที่แย่ที่สุดแต่ถ้าเอานิสัยทางการเงินมาเทียบแล้วก็อาจจะเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับบางคนที่จะทำให้มีเงินไว้ใช้ในอนาคตอีกด้วย ข้อได้เปรียบสำหรับบางคนก็คือสามารถนำเรื่องการวางแผนการเงินผ่านประกันไปเป็นค่าลดหย่อนของภาษีรายได้ส่วนบุคคลเพื่อเพิ่มผลตอบแทนได้อีกด้วย

(การป้องกันความเสี่ยง)

ตั้งวงเงินสำหรับการให้

แน่นอนคนไทยบางส่วนทำงานแล้วก็อาจจะมีภาระการเงินจากทางบ้านที่ต้องกลับไปดูแลการตั้งวงเงินแห่งการให้ก็เป็นเหมือนวงเงินที่จะเติมไฟให้เราอยากทำงานเพราะว่าเรามีเป้าหมายในการทำเพื่อคนอื่น ซึ่งแน่นอนเราจะมีไฟและความอดทนในการทำงานมากกว่าการทำเพื่อตัวเอง แต่บางครั้งการให้ที่มากไปก็อาจจะทำให้เราหมดไฟในการทำงานและการใช้ชีวิตได้ เราก็อาจจะต้องมีเพดานในการช่วยเหลือเพื่อให้ตัวเราที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้นั้นสามารถสร้างต่อไปเรื่อยๆและมีประโยชน์กับทุกคนในระยะยาว หากเราไม่ได้มีภาระเราก็สามารถตั้งวงเงินนี้ทิ้งไว้แล้วลองเอาไปเลี้ยงข้าวเพื่อนร่วมงาน เลี้ยงรุ่นน้อง ซื้อของเล็กๆน้อยๆให้คนรอบตัวในโอกาสสำคัญๆ รวมถึงใส่ซองอีกด้วย ลองนึกภาพตัวเราที่ทำแบบนั้นได้อย่างมีความสุขซิ
(รายจ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้)

เก่งมากที่อ่านมาถึงจุดนี้มาดูหัวข้ออื่นๆเพิ่มกัน

หนี้

ในเรื่องนี้เราจะนิยามคำว่าหนี้ออกจากการนำเงินคนอื่นมาสร้างรายได้ให้ตนเองซึ่งการกู้มาทำธุรกิจหรือลงทุนควรแยกไปเป็นอีกส่วนสำหรับบริหารสินทรัพย์นั้นๆ หนี้ที่เราพูดถึงในนี้อาจจะเหมือนหนี้การศึกษาหนี้บริโภคหรือหนี้ที่เกิดจากความจำเป็นในการใช้ชีวิตหรือเรื่องฉุกเฉินซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามมา ซึ่งเราต้องคำนวณรายจ่ายของหนี้แต่ละก้อนที่จะต้องจ่ายใน 1 ปีข้างหน้าไปเป็นรายการหนึ่งในช่อง (รายจ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้) และนำยอดหนี้คงค้างของก้อนนั้นๆมาเป็นเป้าหมายในการกำจัดหนี้ในช่อง (เป้าหมายในชีวิต) ซึ่งเป้าหมายของหนี้จะต่างออกไปจากเป้าหมายในการเก็บเงินก็คือเราจะต้องทำให้มันลดลงเหลือศูนย์แต่ในทางกลับกับเราต้องเติมเป้าหมายอื่นให้เต็มตามที่ตั้งเป้าไว้ *การปิดหนี้อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งเป็นเป้าหมายหลักควรคำนึงถึงดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายและลองเทียบกับการลงทุนที่เราทำได้แล้วตัดสินใจว่าเงินออมในมือเราจะเอาไปใช้กับก้อนไหนจึงเกิดประโยชน์สูงสุด และควรกระจายการใช้จ่ายเงินออมเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินในอนาคต รวมถึงหนี้บางประเภทเช่นหนี้รถที่ถูกคิดดอกเบี้ยไปตั้งแต่แรกแล้วจึงไม่ได้มีความเร่งรีบในการปิดเท่าหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง

(เป้าหมายของชีวิต&รายจ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้)

บันทึกรายจ่ายสู่การตั้งวงเงิน

ทุกอย่างในตารางนี้อาจจะเริ่มไม่ได้และใช้งานไม่ได้ผลหากเรายังไม่บันทึกรายจ่ายของเรา ไม่ว่าเราจะประหยัดเงินแค่ไหนก็ไม่สู้การเห็นภาพรวมรายจ่ายของเรา เพราะการเห็นค่าใช้จ่ายแต่ละรายการหรือการเห็นค่าใช้จ่ายแต่ละหมวดจะช่วยทำให้เราสามารถนำมาตัดสินใจได้ว่าเราอยากจะลดการใช้จ่ายลงอีกหรือไม่ เราสามารถเอาบันทึกรายจ่ายมาตัดสินใจว่าเราจะลด Life Style การใช้ชีวิตของเราลงหรือไม่ ซึ่งการประหยัดเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เราเห็นภาพนั้นได้ เช่นการเทียบค่าห้องพักรวมกับค่าเดินทาง เทียบกับค่าห้องพักที่แพงขึ้นอีกนิดที่อยู่ใกล้ที่ทำงานและสามารถเดินไปทำงานได้โดยไม่มีค่าเดินทางและทำให้มีเวลามากขึ้นไปซื้อของมาทำอาหารเองโดยที่ไม่ต้องไปซื้อกินระหว่างวัน และนี่ก็คือตัวอย่างเล็กๆน้อยๆในการบันทึกรายจ่าย แต่เมื่อเราทำไปซักพัก รายจ่ายเราก็จะเข้าที่และเราจะเห็นได้ว่าเราใช้ไม่ต่างกันในแต่ละเดือน เมื่อถึงจุดนี้เราสามารถตั้งวงเงินการใช้งานเพื่อให้เราสามารถคำนวณล่วงหน้าไปในอนาคตว่าเราต้องใช้เงินเท่าไหร่ และเมื่อเรามีรายได้ที่มากขึ้นรายจ่ายเราก็จะยังคงที่อยู่เพราะเรามีวงเงินการใช้งาน เงินออมก็จะไหลไปสู่การลงทุนที่มากขึ้นเห็นผลตอบแทนได้ไวขึ้นโดยที่เราไม่เผลอปรับเพดานการใช้เงินของเราขึ้นไปตามรายรับที่เพิ่มเข้ามานั้นเอง

(รายจ่าย)

รายได้จากสินทรัพย์

หรือเรียกว่า Passive Income นั่นเองคำนี้เหมือนเป็นเป้าหมายในการหาเงินของแต่ละคนโดยคิดว่าจะได้มีเงินและมีเวลาไปทำอย่างอื่น แต่การที่จะมีรายได้จากสินทรัพย์นั้นต้องการความเก่งและความเข้าใจของเราในการลงทุนหรือเก่งในการสร้างระบบนั้นขึ้นมา และควรคำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆที่จะมากระทบระบบและสินทรัพย์ของเราและควรคำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงเพื่อให้รายได้ของเรานั้นไม่หายไปพร้อมกันในเวลาเดียว การที่เราจะทำอะไรได้หลายๆอย่างพร้อมกันนั้นเราก็ควรที่จะต้องเก่งในทุกเรื่องที่กำลังทำพร้อมกันเพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีอะไรออกมาดีเลย ในเรื่องของ Passive Income ก็เช่นเดียวกัน เราควรศึกษาให้เรามีความรู้จนเก่งก่อนค่อยเริ่มลงทุน อาจจะเริ่มจากความเสี่ยงต่ำไปสูง หรือลองไปทำงานให้คนอื่นก่อนแล้วค่อยมาทำของตัวเอง ในชีวิตจริงเราจะผิดพลาดกี่ครั้งก็ได้ขอแค่สำเร็จครั้งเดียวแต่ว่าความเป็นจริงก็คือเราไม่ได้มีเวลาชีวิตมากขนาดนั้น การสะสมเงินสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องไว้และการหาความรู้จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยคว้าโอกาสที่จะสามารถพลิกชีวิตเราและเป็นหนทางที่มั่นคงสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน

(สินทรัพย์และการลงทุน)

ปรับแผนอยู่เสมอ

แน่นอนอยู่แล้วนะครับว่าทุกอย่างมันไม่แน่นอนโดยเฉพาะเรื่องการเงินของเรา ไม่ว่าจะเป็นเราสามารถลดรายจ่ายลงได้หรือทำงานเพิ่มแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือได้รับปันผลจากการลงทุนเรื่องเหล่านี้ก็จะทำให้มีเงินเหลือไปใช้กับเป้าหมายและการลงทุนมากขึ้น หรือในทางกลับกันถ้าเกิดเรื่องฉุกเฉินและมีเหตุที่จะต้องใช้เงินจนต้องก่อหนี้เหตุการณ์เหล่านี้ก็จะมีผลกระทบกับการเงินเราแน่นอน แต่ในตารางนี้สิ่งที่ทุกคนจะไม่เปลี่ยนก็คือเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเกษียณหรือเก็บเงินไว้เป็นการศึกษาให้ลูก การมารีวิวแผนการเงินของตนเองและครอบครัวอยู่เสมอจะทำให้เราคอยคิดหาทางที่จะไปถึงเป้าหมายให้ได้ และทุกๆครั้งที่เราจะต้องตัดสินใจนำเงินเก็บหรือเงินที่เราลงทุนอยู่ไปใช้อย่างอื่น เราจะเห็นภาพว่าเงินก้อนนั้นมันกำลังสร้างอะไรให้เราอยู่และมันคุ้มค่ามั้ยที่เราจะเอามันไปทำอย่างอื่น เมื่อเราต้องคิดมากขึ้นทุกครั้งก่อนที่เราเราจะปรับเปลี่ยนโยกย้ายเงินของเรา เราจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองเสมอและตารางนี้จะรวมการเงินทุกอย่างที่คุณมีมาไว้ตรงหน้าเพื่อให้เห็นภาพรวมและมีโอกาสตัดสินใจพลาดน้อยที่สุด

(ให้เงินปัญผลจากการลงทุนรายปีมากกว่าค่าใช้จ่ายรายปี)

เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ ทำได้แน่นอนครับ

เครื่องมือในการคำนวน

เครื่องมือช่วยคำนวนเพื่อให้ตารางที่ทำตัวเลขใกล้ความจริงมากขึ้น

Frame 49.png

คำนวนมูลค่าเงิน

เราสามารถใช้ Financial Calculator ในการคำนวณหาค่าเงินในอนาคตและปริมาณเงินที่เราอยากรู้เมื่อเทียบกับค่าดอกเบี้ยหรือเงินเฟ้อได้เพื่อใช้ในการกำหนดเป้าหมายได้อย่างแม่นยำขึ้น

Frame 51.png

คำนวณรายจ่าย

การบันทึกรายจ่ายนั้นอาจจะต้องใช้เวลาซักพักในการปรับตัวให้ชินกับนิสัยที่ต้องมาบันทึกทุกครั้งที่จ่ายเงินออกไป แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกเลยก็ว่าได้ในการเดินเข้าไปสู่เป้าหมายอิสรภาพทางการเงิน

Frame 50.png

คำนวณภาษีบุคคลธรรมดา

ภาษีคือเรื่องที่ต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังเป็นเงินก้อนใหญ่ของเราในแต่ละปี ดังนั้นการคำนวนภาษีไว้ก่อนเพื่อเตรียมจ่ายและวางแผนลดหย่อนจึงเป็นเรื่องที่จะช่วยให้เราไม่เกิดปัญหาการเงินได้ในอนาคต

Frame 54.png

ประเมินความเสี่ยงการลงทุน

ก่อนจะนำเงินไปลงทุนลองมาเช็คกันก่อนมั้ยว่าตัวเราเองนั้นสามารถรับความเสี่ยงได้ระดับไหนและก่อนที่เราจะเริ่มลงทุนก็ความศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับบริษัทที่เราจะลงกันไว้ด้วยนะ

ตัวอย่าง

ถ้าคุณอยากเริ่มเล่นเกมส์ Financial Freedom Canvas นี้แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงลองดูตัวละครนี้จากการใช้ชีวิต 15 ปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นแนวทางดูก่อน

วิธีการเขียนตารางและการปรับแผนการเงิน

ดาวน์โหลดตาราง

Canvas Smart Start.png

ผมหวังว่าตารางนี้จะทำให้ผู้ใช้งานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและผมอยากบอกว่าตารางที่ผมทำมานี้เป็นเพียงแค่จุดเล็กๆเท่านั้น แต่ที่ทุกคนประสบความสำเร็จได้มาจากความสามารถและความมีวินัยของตัวท่านเองอย่าลืมชื่นชมและให้รางวัลตัวเองอยู่เสมอนะครับ

"
ของแทร่…!!! แต๊งกิ้วๆที่สละเวลาอันมีค่ามาแนะนำให้เห็นทางสว่าง
"

Intharat Butama , PTTEP

bottom of page